Family Communication
การสื่อสารระหว่างสมาชิกในครอบครัวที่ผิดพลาด ส่งผลให้เกิดความเข้าใจคลาดเคลื่อนหรือผิดไปจากเจตนาเดิม แม้แต่ความหวังดี ความเป็นห่วง ความรู้สึกอยากปกป้องสมาชิกในครอบครัวซึ่งล้วนแล้วแต่เกิดขึ้นจากเจตนาดี ก็อาจจะเป็นสาเหตุของการทะเลาะเบาะแว้งกันได้เช่นกัน การสื่อสารที่มีประสิทธิภาพจึงมีความสำคัญอย่างยิ่งในครอบครัว ครอบครัวที่มีการสื่อสารที่ดี สมาชิกควรจะสื่อสารกันอย่างเปิดเผยเพื่อร่วมกันแก้ไขปัญหา ตัดสินใจ และสนับสนุนซึ่งกันและกัน
ทักษะการสื่อสารที่สำคัญประการหนึ่ง คือ การฟังอย่างตั้งใจและกระตือรือร้น (Active Listening) เป็นการฟังอย่างใส่ใจกับสิ่งที่อีกฝ่ายพูด ทั้งด้วยวาจาและภาษากาย นอกจากนี้ยังรวมถึงการถามคำถามเพื่อชี้แจงและสะท้อนกลับสิ่งที่คุณได้ยินเพื่อให้แน่ใจว่าคุณเข้าใจมุมมองของอีกฝ่ายอย่างถูกต้อง
ทักษะอีกประการหนึ่งที่จำเป็นต่อการสื่อสารที่มีประสิทธิภาพคือการมีความกล้าแสดงออก (Assertiveness) หมายถึงมีความสามารถในการแสดงความต้องการของตนเองออกไปอย่างชัดเจนและตรงไปตรงมา ในขณะเดียวกันก็ยังคงเคารพความคิดและความต้องการของผู้อื่น แม้แต่เมื่อคุณไม่เห็นด้วยกับเขาก็ตาม ทั้งนี้สามารถแสดงออกถึงความรู้สึกของคุณโดยใช้ประโยค "ฉัน..." (I Message) เพื่ออธิบายความรู้สึกและความต้องการของคุณโดยไม่ตำหนิหรือวิพากษ์วิจารณ์ผู้อื่น ตัวอย่างเช่น แทนที่แม่จะพูดว่า "ลูกชอบทำบ้านเลอะเทอะ" ก็อาจพูดกับลูกว่า "แม่รู้สึกไม่ดีเมื่อกลับบ้านมาเจอบ้านรก"
นอกจากนี้การสร้างสภาพแวดล้อมที่สนับสนุนและเปิดกว้างสำหรับการสื่อสารก็ช่วยส่งเสริมสัมพันธ์อันดีในครอบครัว โดยการจัดสรรเวลาพูดคุยกันเป็นประจำ เต็มใจที่จะฟังมุมมองของกันและกัน เคารพความแตกต่างของกันและกัน และเต็มใจที่จะประนีประนอม
การสื่อสารที่ดีย่อมนำไปสู่ความสัมพันธ์ที่ดีในครอบครัว อย่าปล่อยให้ความรักความหวังดีระหว่างกันถูกการสื่อสารที่ไม่มีประสิทธิภาพเปลี่ยนความรู้สึกดีๆเหล่านั้นให้กลายเป็นสาเหตุในการทะเลาะกันในครอบครัว ถ้าคุณอยากพัฒนาทักษะการสื่อสารในครอบครัวแต่ไม่รู้ว่าจะเริ่มต้นอย่างไร Mind Meaning พร้อมที่จะเป็นเพื่อนร่วมเดินทางไปสู่การพัฒนาทักษะการสื่อสารไปพร้อมกับคุณ ให้คำปรึกษาโดยนักจิตวิทยาที่มีประสบการณ์
สอบถามรายละเอียดหรือนัดหมายเวลาปรึกษาได้โดย
1. แอดไลน์ @mindmeaning หรือคลิ้ก --> https://lin.ee/du3QfJb
2. โทร. 064-9514665